ข้อมูลน่ารู้ (KM)

ตัวอย่างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ตัวอย่างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ภูมิภาคอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มุ่งเน้นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ลดปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมและปัญหามลพิษ สร้างงานให้กับคนในประเทศ และเพิ่มคุณภาพของคนงานที่ทำงานในอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นข้อแตกต่างจากประเทศแคนาดาที่เน้นการบูรณาการมิติเชิงเศรษฐกิจกับมิติเชิงสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน และนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการเมืองและระบบอุตสาหกรรม โดยมีการนำหลักการของประสิทธิภาพเชิงนิเวศ (Eco-Efficiency) มาใช้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเชิงธุรกิจ บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่ประเทศแคนาดาก็ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานหลายข้อ ได้แก่ ปัญหาด้านเทคโนโลยี ปัญหาด้านการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูล ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาด้านกฎหมายและปัญหาด้านค่านิยมของประชาชน
ภูมิภาคยุโรป
ประเทศสวีเดน
ประเทศสวีเดน เน้นการนำของเสียและขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น นำมาผลิตไฟฟ้า และมีการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงาน ขยะ ของเสียและทรัพยากรน้ำ โดยจะส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองเป็นผู้ปฏิบัติในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวงจรเมืองนิเวศ
ประเทศเดนมาร์ก
ประเทศเดนมาร์ก มีนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ Kalunborgได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบด้านการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและพลังงานภายในนิคมอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงแห่งแรกของโลก โดยการดำเนินการนี้เรียกว่า เครือข่ายอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (Industrial Symbiosis)
สหราชอาณาจักร
การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของสหราชอาณาจักรจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค โดยความสำเร็จต่อมาคือ มีการจัดตั้งโครงการ National Industrial Symbiosis Programme (NISP)ที่เน้นการพึ่งพาในระดับประเทศและภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักรทั้งหมด 12 แห่ง
ประเทศเยอรมัน
การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศเยอรมันจะอาศัยกระบวนการพัฒนาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบครบวงจร และมีนโยบายในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นที่ต้องรับภาระกำจัดของเสียรวมไปถึงการรณรงค์การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
ภูมิภาคเอเชีย
ประเทศญี่ปุ่น
การดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในภูมิภาคเอเชียได้ถือว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบของการพัฒนาและได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างสูงสุด โดยเป็นการดำเนินการที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และเน้นการมีของเสียเป็นศูนย์ (Towards Zero Waste) โดยการแลกเปลี่ยนของเสียอุตสาหกรรม (Waste Exchange) ตามหลัก 3Rsจุดแข็งของประเทศญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดความสำเร็จนั้นมาจากความร่วมมือที่ดีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นความเข้มงวดเอาจริงในการใช้กฎหมาย การขยายพื้นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีที่ดีและเน้นการอนุรักษ์พลังงานและการจัดการวัสดุของเสียแบบบูรณาการ ทำให้ในปัจจุบันมีพื้นที่โครงการ Eco-Townถึง 26 แห่ง
รูปที่ตั้งโครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศญี่ปุ่น (ที่มา Fujita, 2011) ตารางแสดงพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศญี่ปุ่น
ลำดับ | รายชื่อ | วันอนุมัติ | ประเภทอุตสาหกรรมหลัก | |||
---|---|---|---|---|---|---|
1 | Iida City | 10 | กรกฎาคม | พ.ศ. 2540 | รีไซเคิลขวด PETและกระดาษใช้แล้ว | |
2 | Kawasaki City | 10 | กรกฎาคม | พ.ศ. 2540 | รีไซเคิลพลาสติกเหลือใช้โดยใช้เป็นตัวรีดิวซ์(Reducing Agent) สำหรับสินแร่เหล็ก รีไซเคิลกระดาษใช้แล้ว และผลิตขวด PET | |
3 | Kitakyushu City | 10 | กรกฎาคม | พ.ศ. 2540 |
รีไซเคิลขวด PET เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน รถยนต์ หลอดไฟเรืองแสงฟลูออเรสเซนต์ และผลิตวัสดุ ก่อสร้างจากขยะจำพวกไม้และพลาสติก |
|
4 | Gifu Prefecture | 10 | กรกฎาคม | พ.ศ. 2540 |
รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ยาง ขวด PET และ พลาสติกเหลือใช้ |
|
5 | Omuta City | 3 | กรกฎาคม | พ.ศ. 2541 |
ผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยและ รีไซเคิลผ้าอ้อมกระดาษ |
|
6 | Sapporo City | 10 | กันยายน | พ.ศ. 2541 |
รีไซเคิลขวด PET และผลิตน้ำมันจาก พลาสติกเหลือใช้ |
|
7 |
Chiba City / Chiba Prefecture |
25 | มกราคม | พ.ศ. 2542 |
ผลิต Eco-Cement และก๊าซมีเทน และ รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ไม้ โลหะ และพลาสติก |
|
8 | Akita Prefecture | 12 | พฤศจิกายน | พ.ศ. 2542 |
รีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จัดเก็บโลหะหนัก และผลิตวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกเหลือใช้ |
|
9 |
Uguisuzawa, Miyagi Prefecture |
12 | พฤศจิกายน | พ.ศ. 2542 | รีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน | |
10 | Hokkaido | 30 | มิถุนายน | พ.ศ. 2543 | รีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กระดาษ และบรรจุภัณฑ์ | |
11 | Hiroshima Prefecture | 13 | ธันวาคม | พ.ศ. 2543 | ผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย รีไซเคิลเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และหลอมละลายขี้เถ้า | |
12 | Kochi City | 13 | ธันวาคม | พ.ศ. 2543 | รีไซเคิลผลิตภัณฑ์สไตโรโฟม | |
13 | Minamata City | 6 | กุมภาพันธ์ | พ.ศ. 2544 | รีไซเคิลขวด และพลาสติกเหลือใช้ | |
14 | Yamaguchi Prefecture | 29 | พฤษภาคม | พ.ศ. 2544 | เปลี่ยนเถ้าจากการเผาเป็นวัตถุดิบซีเมนต์ | |
15 |
Naoshima, Kagawa Prefecture |
28 | มีนาคม | พ.ศ. 2544 | รีไซเคิลขี้เถ้า และโลหะมีค่า | |
16 | Toyama City | 17 | พฤษภาคม | พ.ศ. 2545 | รีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกผสม ไม้ และผลิตภัณฑ์เส้นใยที่ย่อยสลายยาก | |
17 | Aomori Prefecture | 25 | ธันวาคม | พ.ศ. 2545 | รีไซเคิลเถ้าจากการเผา และเปลือกหอย | |
18 | Hyogo Prefecture | 25 | เมษายน | พ.ศ. 2546 | รีไซเคิลล้อรถยนต์ | |
19 | Tokyo | 27 | ตุลาคม | พ.ศ. 2546 | รีไซเคิลวัสดุก่อสร้าง | |
20 | Okayama Prefecture | 29 | มีนาคม | พ.ศ. 2547 | รีไซเคิลเหล็กและขี้เถ้า | |
21 | Kamaishi,Iwate Prefecture | 13 | สิงหาคม | พ.ศ. 2547 | รีไซเคิลขยะจากอุตสาหกรรมประมง | |
22 | Aichi Prefecture |
28 |
กันยายน | พ.ศ. 2547 | รีไซเคิลนิกเกิล และขยะมูลฝอย | |
23 | Suzuka,Mie Prefecture | 29 | ตุลาคม | พ.ศ. 2547 | รีไซเคิลขยะจากอุตสาหกรรมยานยนต์ | |
24 | Osaka Prefecture | 28 | กรกฎาคม | พ.ศ. 2548 | รีไซเคิลขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยีการใช้น้ำที่สภาวะกึ่งวิกฤติ (Subcritical Water) | |
25 | Yokkaichi,Mie Prefecture | 16 | กันยายน | พ.ศ. 2548 | รีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติก | |
26 | Ehime Prefecture | 20 | มกราคม | พ.ศ. 2549 | รีไซเคิลขวด PET และขยะจากอุตสาหกรรมกระดาษ |
ประเทศเกาหลีใต้
มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Park) ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 โดยมีหลักแนวคิดการสร้างระบบนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrial Eco System)ผ่านกลยุทธ์ 5 ประการ ได้แก่ การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและพลังงานภายในนิคมอุตสาหกรรม การวางแผนและพัฒนาพื้นที่ทางนิเวศ การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการส่งเสริมและพัฒนาโครงการนำร่องทั้งหมด 5 โครงการ ซึ่งความสำเร็จที่ชัดเจนคือการมีกำไรทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นของเขตนิคมอุตสาหกรรม Ulsanโดยทำควบคู่ไปกับการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา Ban, 2011) พื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศเกาหลีใต้
รายชื่อ | ประเภทอุตสาหกรรมหลัก |
Banwol - Siwha | สิ่งทอ กระดาษ สารเคมี และกำจัดขยะด้วยการเผา |
Ulsan - Mipo - Onsan | รถยนต์ เรือ และปิโตรเคมี |
Yeoso | ปิโตรเคมี และการกลั่นน้ำมัน |
Cheongju | กระดาษ สิ่งทอ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ |
Pohang | เหล็ก ซีเมนต์ และการกำจัดขยะ |
สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 โดยดำเนินการอยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจวงรอบ (Circular Economy: CE)ซึ่งเป็นแนวคิดที่พยายามบูรณาการ (Integrate)มิติเชิงเศรษฐกิจกับมิติเชิงสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันบนพื้นฐานของหลักการนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม โดยองค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีน (State of Environment Protection Administration of PRC: SEPA) ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการสร้างแบบจำลอง (Model) ที่เป็นแนวทางการจัดการและพัฒนาที่เรียกว่า 3+1 ได้แก่ Small Circle, Medium Circle, Great Circle และ Waste Disposal and Recycle โดยดำเนินการเผยแพร่ในลักษณะของบนลงล่าง กล่าวคือ รัฐหรือส่วนปกครองที่มีอำนาจจะเป็นผู้วางแผนและส่งผ่านนโยบายไปยังส่วนรองในลำดับถัดไป ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีโครงการต้นแบบที่ดำเนินการโดยรัฐบาล (National Demonstration EIPs) ทั้งหมด 15 โครงการ และโครงการทดลองโดยรัฐบาล (National Trial EIPs)อีกทั้งหมด 45 โครงการ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ผลความสำเร็จของการดำเนินงานส่งผลให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น และนิคมอุตสาหกรรมที่ราบรื่นและกระชับยิ่งขึ้น นอกจากนี้ประเทศจีนยังสามารถผลิตและส่งออกผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
มีการจัดตั้ง EcoParkที่มุ่งเน้นเฉพาะการรีไซเคิล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550เป็นต้นมา โดยส่งเสริมแนวคิดการรีไซเคิลในระดับอุตสาหกรรมชุมชน รวมถึงการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ด้วยหลักแนวคิดเศรษฐกิจวงรอบ (Circular Economy: CE) แต่ปัจจุบันยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เนื่องจากบริษัทผู้เช่าเกือบทั้งหมดยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตที่ตั้งเอาไว้ได้ ถึงแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานโดยมองหากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ และการพัฒนาประสิทธิภาพสินค้า
แผนผังนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (ที่มา EcoPark, 2012)
ประเทศเวียดนาม
ได้มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Bourbon-An Hoaเมื่อปี พ.ศ. 2552 ในจังหวัด TayNinhทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อจัดตั้งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเช่นเดียวกันกับเกาหลีใต้ แต่จะดำเนินการโดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าในกระบวนการผลิต และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การลดปริมาณการก่อให้เกิดขยะ และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก นอกจากนี้ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมดถูกสงวนไว้เป็นพื้นที่สีเขียวอีกด้วย
ที่มา
1. Ban, Y. U. (2011). Korea EIP (eco-industrial park) development strategies including legal system improvement measure. URL https://www.wbginvestmentclimate.org/advisory-services/cross-cutting-issues/climate-change/upload/Session3-2-version-2-Korean-EIP-and-Legal-System-Improvement-Yong-Un-Ban-1.pdf Retrieved May 8, 2012
2. EcoPark (2012).About EcoPark. URL http://www.ecopark.com.hk/en/about.aspx Retrieved May 8, 2012
3. Fujita, T. (2011). Eco-town projects/environmental industries in progress: environment-conscious type of town-building; case introduction. URL http://www.meti.go.jp/policy/recycle/main/3r_policy/policy/pdf/ecotown/ecotown_casebook/english.pdf Retrieved May 14, 2012
4. Ministry of Economy, Trade and Industry (2011). Map of approved eco-town sites. URL http://www.meti.go.jp/policy/recycle/main/3r_policy/policy/pdf/ecotown/Map23fy10.pdf Retrieved May 4, 2012
5. Waste Prevention Best Practice Factsheets (2009). National Industrial Symbiosis Programme (UK). URL http://ec.europa.eu/environment/ waste/ prevention/pdf/NISP_Factsheet.pdf Retrieved May 14, 2012
ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม

Follow Us On Social Network